Latest Movie :
 

เด็กทารกสื่อสารด้วยการร้องไห้


   ช่วงเวลาสำหรับคุณแม่มือใหม่ในการเลี้ยงทารกช่วงวัยเด็กอ่อน แรกเกิดถึงประมาณ 3 เดือน เป็นช่วงที่ต้องเตรียมรับมือกับเสียงร้องของลูกน้อยที่หนักหน่วงที่สุด โดยเฉพาะช่วงเดือนแรกที่เด็กทารกต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมภายนอกครรภ์ และกำลังอยู่ในช่วงที่ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายโดยเฉพาะระบบลำไส้และการย่อยอาหารกำลังปรับตัว พอเมื่อผ่านพ้นช่วงเดือนแรกไป การร้องของเด็กก็จะลดน้อยลงจนเข้าเดือนที่ 3 ลองมาดูกันค่ะว่าการร้องของเด็กทารกสื่อสารอะไรให้คุณแม่ทราบบ้าง


หนูร้องเพราะหิวนม เด็กทารกแต่ล่ะคนมีอุปนิสัยการกินแตกต่างกันทั้งในเรื่องของช่วงเวลาและปริมาณ เด็กบางคนกินนมตรงเวลาแล้วหลับยาวแต่เด็กบางคนกินทีล่ะน้อยแต่ตื่นมากินบ่อย เมื่อถึงเวลากินนมเด็กเริ่มหิวก็จะร้องให้คุณแม่ป้อนนม นอกจากการร้องเพราะหิวนมตามช่วงเวลาปกติแล้วในบางครั้งการร้องอาจเป็นเพราะทานนมไม่อิ่ม อาจเนื่องมาจากน้ำนมแม่มีไม่เพียงพอหรือเด็กเริ่มทานนมมากขึ้นตามช่วงอายุ ดังนั้นเพื่อให้เด็กหลับได้ยาวนานขึ้นคุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตุว่ามีนมเพียงพอสำหรับลูกน้อยรึเปล่า หรือถ้าให้ดื่มนมขวด สามารถสังเกตุได้ว่าเมื่อเวลาที่ดูดจนหมดขวด เด็กจะพยายามดูดขวดเปล่าต่ออย่างเอาจริงเอาจังเสียง ดังจ๊วบ ๆ นั่นแปลว่าเขากินไม่อิ่มค่ะถ้าหลับไปเดี๋ยวก็ตื่นขึ้นมาร้องกินนมอีก

หนูเหนื่อยอยากนอนแล้ว เด็กทารกพออ่อนเพลียและเริ่มง่วงนอนจะเริ่มงอแงและต้องแสดงพลังเฮือกสุดท้ายคือการร้องไห้ออกมา คุณแม่อาจลองให้นมและเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็กสบายตัวและวางลงปล่อยให้เขาร้องหลับไปเอง แต่ถ้าเด็กยังร้องไห้ไม่ยอมหลับ การอุ้มขึ้นมากล่อมให้เขาสงบลงและผล๊อยหลับในอ้อมอกแม่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งค่ะ


ผ้าอ้อมหนูเลอะ ความเปียกชื้นจากฉี่หรืออึทำให้เด็กทารกรู้สึกไม่สบายตัวและร้องบอกคุณแม่ให้เปลี่ยนผ้าอ้อมให้หนูหน่อยจ้าาา

หนูยังไม่ชินกับโลกภายนอก โดยเฉพาะเด็กอ่อนในช่วงแรกเกิด-1เดือนยังปรับตัวได้ไม่ดีในสภาพแวดล้อมนอกครรภ์ของคุณแม่ การร้องของเด็กในบางครั้งก็ไม่ใช่เพราะหิวนม ไม่สบายตัว หรือป่วยแต่เป็นเพราะเขายังปรับตัวได้ไม่ดีกับสภาพแวดล้อมภายนอกที่มีเสียงอึกทึก แขนขาเคว้งคว้างไปในอากาศ(จากที่เคยขดอยู่ในท่าเดียวตลอด 9 เดือนในครรภ์แม่) เสียงภายนอกก็อึกทึกไม่เหมือนตอนอยู่ในท้องแม่ หรือแสงสว่างจ้าที่เข้ามาแยงตา หากสาเหตุการร้องเป็นเพราะความไม่คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ การอุ้มเด็กขึ้นมากระชับในอ้อมอกแม่จะช่วยให้เด็กรู้สึกถึงความมั่นคงปลอดภัย(ได้ขดตัวอยู่ในอ้อมอกแม่เสมือนอยู่ในครรภ์)
สำหรับการปรับสภาพแวดล้อมภายในห้อง ลดแสงสว่าง เปิดเครื่องดูดฝุ่นเบา ๆ (เลียนเสียงเหมือนตอนอยู่ในน้ำคร่ำในครรภ์แม่) รวมถึงการพันผ้าห่อตัวเด็กในช่วงเวลานอน สามารถช่วยให้เด็กสงบลงและหยุดร้องและนอนได้นานขึ้น



หนูท้องอืด อาการท้องอืดมีลมในกระเพาะจะเป็นมากในช่วงเด็กอ่อนแรกเกิด-2 เดือน เนื่องจากระบบลำไส้และการย่อยอาหารยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เด็กจะร้องไห้งอแงเพราะแน่นท้องรู้สึกไม่สบายตัว ปกติหลังกินนมคุณแม่ควรอุ้มเด็กพาดบ่าให้เรอออกเพื่อให้เด็กสบายตัว การทามหาหิงส์หรือให้ทานยาแก้ท้องอืด(ควรปรึกษาแพทย์) สามรถช่วยลดอาการท้องอืดในเด็กได้ และคุณแม่ควรสังเกตุการถ่ายของเด็กหากไม่ได้ถ่ายเป็นเวลา 2-3 วันเด็กก็จะมีอาการแน่นท้องเช่นกันค่ะ

หนูนอนไม่หลับ เด็กแต่ล่ะคนก็มีนิสัยการนอนแตกต่างกันบางคนนอนยาวแต่เด็กบางคนก็มักจะตื่นมาร้องกวนได้หลาย ๆ ครั้งกลางดึกทั้งที่ไม่ได้หิวนม สำหรับคำแนะนำโดยเฉพาะเด็กทารกในช่วงเดือนแรกที่ชอบตื่นมาร้องกวนอาจมีสาเหตุมาจากการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมภายนอกยังทำได้ไม่ดี เนื่องจากต้องนอนในพื้นที่กว้าง ๆ ต่างกับตอนอยู่ในครรภ์ที่ได้นอนคุดคู้ขดตัวในพื้นที่แคบ ๆ เวลาตื่นมากลางดึกแขนขาก็จะรู้สึกเคว้งคว้างในอากาศ และยากที่จะนอนหลับต่อได้ การห่อตัวเด็กในเวลานอนโดยเฉพาะกับเด็กทารกในช่วงเดือนแรกสามารถช่วยลดการร้องกวนลงได้เนื่องจากการห่อตัวเสมือนว่าเด็กได้นอนขดแขนขาแนบชิดอยู่ในครรภ์

หนูป่วย เด็กทารกร้องเนื่องจากอาการป่วยมีไข้ตัวร้อน มีน้ำมูก คุณแม่สามารถสังเกตุอาการได้ง่าย แต่หากเด็กแผดร้องเสียงดังโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ(โดยที่เด็กไม่ได้มีอาการโคลิค)และคุณแม่ได้ทำทุกวิถีทางแล้ว คุณแม่ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยค่ะเพราะอาจเป็นอาการป่วยภายในที่เราไม่ทราบได้


หนูเป็นโคลิค "อาการเด็กร้องโคลิค"มักเกิดในเด็กอ่อนพบมากในช่วงปลาย ๆ เดือนแรก และเด็กจะร้องต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน(ชาวบ้านมักเรียกอาการโคลิคว่า เด็กร้อง 3 เดือน) ลักษณะอาการเด็กจะแผดเสียงร้องจ้าเหมือนเจ็บปวดอยู่นานหลายนาทีเด็กบางคนร้องนานเป็นชั่วโมง และจะร้องในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันทุกวันและหยุดร้องไปเอง พอหยุดร้องเด็กก็จะกลับมาอารมณ์ดีเหมือนเดิมกินนมได้ตามปกติ สำหรับอาการเด็กที่เป็นโคลิคในทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดแต่สันนิษฐานว่าเกี่ยวกับระบบการการย่อยอาหารของเด็กยังทำงานไม่สมบูรณ์ เมื่อย่างเข้าเดือนที่ 3 ระบบต่าง ๆ ทำงานได้ดีขึ้นอาการโคลิคก็จะหายไปเอง สำหรับการรับมือกับเด็กที่มีอาการโคลิคติดตามอ่านตอนต่อไปนะคะ
Share this article :

Post a Comment

 
 
Support : | |
Copyright © 2014. Guide Baby Care - All Rights Reserved
Template Created by Published by
Proudly powered by Blogger