Latest Movie :
Recent Movies
 

บันทึกพัฒนาการเด็กตามวัยตั้งแต่อายุ 1 เดือน - 6 ขวบ พัฒนาการ

ข้อแนะนำในการใช้บันทึกพัฒนาการเด็ก สำหรับคุณพ่อคุณแม่ และผู้ปกครอง

พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล เปิดเผยถึงวิธีการรับมือกับสภาวะทางอารมณ์ของเด็กในวัยที่แตกต่างกันว่า พ่อแม่ควรมีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่รู้ว่าตั้งครรภ์ พร้อมแนะว่าเด็กแต่ละวัยจะมีธรรมชาติที่แตกต่างกัน

    คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกเติบโตอย่างมีคุณภาพทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านร่างกาย สติ ปัญญา อารมณ์ และสังคม โดยการดูแลเอาใจใส่ด้วยความรักและเข้าใจ ให้โอกาสเด็กได้เรียน รู้ และฝึกทำ
    คุณพ่อคุณแม่ และทุกคนในบ้านเป็นแบบอย่างที่จะปลูกฝังให้เด็กมีลักษณะนิสัย และความ เป็นอยู่ที่ดี เหมาะสมกับสภาพของชุมชน ตลอดจนเติบโตขึ้นเป็นคนดีมีความสามารถได้
    บันทึกพัฒนาการเด็กต่อไปนี้ แสดงความสามารถตามวัยของเด็ก ซึ่งเด็กแต่ละคนอาจมี พัฒนาการเร็ว - ช้า แตกต่างกัน ถ้าถึงอายุที่ควรทำได้แล้วเด็กทำไม่ได้ ควรให้โอกาสฝึกก่อน ใน 1 เดือน ถ้าไม่มีความก้าวหน้า ควรปรึกษาแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
    ถ้าลูกมีลักษณะต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
    - ถ้าลูกอายุ 3 เดือน แล้วลูกไม่สบตา หรือ ยิ้มตอบ ไม่ชูคอในท่านอนคว่ำ
    - ถ้าลูกอายุ 6 เดือน แล้วไม่มองตาม หรือ ไม่หันตามเสียง หรือ ไม่สนใจคนมาเล่นด้วย ไม่ พลิกคว่ำหงาย
    - ถ้าลูกอายุ 1 ปี ยังไม่เกาะเดิน ไม่สามารถใช้นิ้วมือหยิบของกินเข้าปาก ไม่เลียนแบบท่าทาง และเสียงพูด
    - ถ้าลูกอายุ 1 ปี 6 เดือน แล้วยังไม่สามารถทำตามคำสั่งง่ายๆ ได้ เช่น นั่งลง สวัสดี เดินมาหา แม่
    - ถ้าลูกอายุ 2 ปี ยังไม่พูดคำต่อกัน
    - พัฒนาการล่าช้ากว่าวัย น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ เจ็บป่วยบ่อยๆ

หมายเหตุ : คุณพ่อคุณคุณแม่ ผู้ปกครองเด็ก บันทึกพัฒนาการเด็กในช่อง "ลูกของท่านทำได้ เมื่ออายุ"


พัฒนาการเด็กเมื่ออายุ 1 เดือน

    สบตา
    จ้องหน้าแม่

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย

    กินนมแม่อย่างเดียว
    ยิ้มแย้ม มองสบตา เล่นพูดคุยกับลูก
    เอียงหน้าไปมาช้าๆ ให้ลูกมองตาม
    อุ้มบ่อยๆ อุ้มพาดบ่าบ้าง

พัฒนาการเด็กเมื่ออายุ 2 เดือน

    คุยอ้อแอ้ ยิ้ม
    ชันคอในท่าคว่ำ

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย

    กินนมแม่อย่างเดียว
    เล่นกับลูกโดยแขวนของสีสด ห่างจากหน้าลูกประมาณ 1 ศอกให้ลูกมองตาม
    พูดคุยทำเสียงต่างๆ และร้องเพลง
    ให้ลูกนอนคว่ำในที่นอนที่ไม่นุ่มเกินไป



พัฒนาการเด็กเมื่ออายุ 3 เดือน

    ชันคอได้ตรงเมื่ออุ้มนั่ง
    ส่งเสียงโต้ตอบ

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย

    กินนมแม่อย่างเดียว
    อุ้มท่านั่ง พูดคุยทำเสียงโต้ตอบกับเด็ก
    ให้ลูกนอนเปล หรืออู่ ที่ไม่มืดทึบ

พัฒนาการเด็กเมื่ออายุ 4 เดือน

    ไขว่คว้า
    หัวเราะเสียงดัง
    ชูคอตั้งขึ้นในท่าคว่ำ

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย

    จัดที่ที่ปลอดภัยให้เด็กหัดคว่ำ คืบ
    เล่นกับลูกโดยชูของเล่นให้ลูกไขว่คว้า
    ชมเชย ให้กำลังใจลูก เมื่อลูกทำได้

พัฒนาการเด็กเมื่ออายุ 5 เดือน

    คืบ
    พลิกคว่ำ พลิกหงาย

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย

    หาของเล่นสีสดชิ้นใหญ่ที่ปลอดภัยให้หยิบ จับ และให้คืบไปหา
    พ่อแม่ช่วยกันพูดคุย โต้ตอบ ยิ้มเล่นกับเด็ก
    พูดถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่กับเด็ก เช่น อาบน้ำ กินข้าว

พัฒนาการเด็กเมื่ออายุ 6 เดือน

    คว้าของมือเดียว
    หันหาเสียงเรียกชื่อ
    ส่งเสียงต่างๆ โต้ตอบ
    ลูกของท่านทำได้เมื่ออายุ ………………เดือน

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย

    เวลาพูดให้เรียกชื่อเด็ก
    เล่นโยกเยกกับเด็ก
    หาของให้จับ

พัฒนาการเด็กเมื่ออายุ 7 เดือน

    นั่งทรงตัวได้เอง
    เปลี่ยนสลับมือถือของได้

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย

    อุ้มน้อยลง ให้เด็กได้คืบและนั่งเล่นเอง โดยมีคุณแม่คอยระวังอยู่ข้างหลัง
    ให้เล่นสิ่งที่มีสี และขนาดต่างกัน เช่น ลักษณะผิวเรียบ - หยาบ อ่อน - แข็ง
    ให้หยิบจับสิ่งของ เข้า - ออก จากถ้วย หรือกล่อง

พัฒนาการเด็กเมื่ออายุ 8 เดือน

    มองตามของที่ตก
    แปลกหน้าคน

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย

    กลิ้งของเล่นให้เด็กมองตาม
    พูดและทำท่าทางเล่นกับเด็ก เช่น จ๊ะเอ๋ จับปูดำ แมงมุม จ้ำจี้ ตบมือ

พัฒนาการเด็กเมื่ออายุ 9 เดือน

    เข้าใจเสียงห้าม
    เล่นจ๊ะเอ๋ ตบมือ
    ใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือหยิบของชิ้นเล็ก

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย

    หัดให้เกาะยืน เกาะเดิน
    หัดให้เด็กใช้นิ้วหยิบ จับของกินชิ้นเล็กเข้าปาก เช่น ข้าวสุก มะละกอหั่น มันต้มหั่น ฟักทอง ต้ม
    ห้ามใช้ถั่ว หรือของที่จะสำลักได้

พัฒนาการเด็กเมื่ออายุ 10 เดือน

    เหนี่ยวตัว เกาะยืน เกาะเดิน
    ส่งเสียงต่างๆ "หม่ำ หม่ำ", "จ๊ะ จ๋า"

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย

    จัดที่ให้เด็กคลาน และเกาะเดินอย่างปลอดภัย
    เรียกเด็ก และชูของเล่นให้เด็กสนใจเพื่อลุกขึ้นจับ

พัฒนาการเด็กเมื่ออายุ 1 ปี
    ตั้งไข่
    พูดเป็นคำที่มีความหมาย เช่น พ่อ แม่
    เลียนเสียง ท่าทางและเสียงพูด

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย

    ให้เด็กมีโอกาสเล่นสิ่งของโดยอยู่ในสายตาผู้ใหญ่
    พูดชมเชย เมื่อเด็กทำสิ่งต่างๆ ได้
    พูดคุย ชี้ และบอกส่วนต่างๆ ของร่างกาย

พัฒนาการของเด็กวัย 1 ปี 3 เดือน

    เดินได้เอง
    ชี้ส่วนต่างๆ ของร่างกายตามคำบอก
    ดื่มน้ำจากถ้วย

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย

    พูดคุย โต้ตอบ ชี้ชวนให้เด็กสังเกตของและคนรอบข้าง
    ให้หาของที่ซ่อนใต้ผ้า
    ชี้ให้ดูภาพ และเล่าเรื่องสั้นๆ ให้เด็กฟัง
    ให้เด็กหัดตักอาหาร ดื่มน้ำจากถ้วย และแต่งตัวโดยช่วยเหลือตามสมควร

พัฒนาการของเด็กวัย 1 ปี 6 เดือน

    เดินได้คล่อง
    รู้จักขอ และทำตามคำสั่งง่ายๆ ได้

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย

    ให้โอกาสเด็ก เดิน วิ่ง และหยิบจับสิ่งของโดยระมัดระวังความปลอดภัย
    ร้องเพลง คุยกับเด็กเกี่ยวกับสิ่งรอบตัว เล่นเกมส์ง่ายๆ
    จัดหา และทำของเล่นที่มีสี และรูปทรงต่างๆ

พัฒนาการของเด็กวัย 1 ปี 8 เดือน

    พูดแสดงความต้องการ
    พูด 2-3 คำ ติดต่อกัน
    เริ่มพูดโต้ตอบ
    ขีดเขียนเป็นเส้นได้

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย

    เมื่อเด็กพยายามทำสิ่งใด ควรสนใจ ชี้แนะ และให้กำลังใจ โดยให้เด็กคิดเอง และทำเอง บ้าง
    ฝึกลูกให้ช่วยตัวเอง เช่น ขับถ่ายให้เป็นที่ รู้จักล้างมือก่อนกินอาหารและหลังขับถ่าย
    ให้เด็กมีส่วนร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ในบ้าน

พัฒนาการของเด็กวัย 2 ปี
    เรียกชื่อสิ่งต่างๆ และคนที่คุ้นเคย
    ตักอาหารกินเอง

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย

    คุณพ่อคุณแม่ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีตลอดเวลา และอบรมสั่งสอนลูกด้วยเหตุผลง่าย
    สอนลูกให้รู้จักทักทาย ขอบคุณ และขอโทษในเวลาที่เหมาะสม

พัฒนาการของเด็กวัย 2 ปี 6 เดือน

    ซักถาม "อะไร" พูดคำคล้องจอง
    ร้องเพลงสั้นๆ
    ร้องเพลงสั้นๆ
    หัดแปรงฟัน

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย

    พาเด็กเดินรอบบ้าน และบริเวณใกล้ๆ ชี้ชวนให้สังเกตสิ่งที่พบเห็น
    หมั่นพูดคุยด้วยคำพูดที่ชัดเจน และตอบคำถามของลูกโดยไม่ดุ หรือแสดงความรำคาญ
    ชวนลูกแปรงฟัน เมื่อตื่นนอนและก่อนนอนทุกวัน

พัฒนาการของเด็กวัย 3 ปี

    บอกชื่อ และเพศตนเองได้
    รู้จักให้และรับ รู้จักรอ

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย

    สนับสนุนให้ลูกพูด เล่าเรื่อง ร้องเพลง ขีดเขียน และทำท่าทางต่างๆ
    สังเกตท่าทีความรู้สึกของเด็ก และตอบสนองโดยไม่บังคับ หรือตามใจลูกเกินไป ควรค่อยๆ รู้จักผ่อนปรน
    จัดหาของที่มีรูปร่าง และขนาดต่างๆ ให้เด็กเล่น หัดขีดเขียน หัดนับแยกกลุ่ม และเล่นสมมุติ

พัฒนาการของเด็กวัย 4 ปี

    ซักถาม "ทำไม"
    ล้างหน้า แปรงฟันเองได้
    บอกขนาด ใหญ่ เล็ก ยาว-สั้น
    เล่นรวมกับคนอื่น รอตามลำดับก่อนหลัง
    ไม่ปัสสาวะรด

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย

    ตอบคำถามของเด็ก
    เล่าเรื่องจากภาพ คุย ซักถาม เล่าเรื่อง
    ฝึกให้ลูกใส่เสื้อผ้า ติด และกลัดกระดุม รูดซิป

พัฒนาการของเด็กวัย 4 ปี 6 เดือน

    รู้จักสีถูกต้อง 4 สี
    ยืนทรงตัวขาเดียว และเดินต่อเท้า
    เลือกของที่ต่างจากพวกได้
    นับได้ 1-10 รู้จักค่าจำนวน 1-5

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย

    ให้ลูกหัดเดินบนไม้กระดานแผ่นเดียว หัดยืนทรงตัวขาเดียว และกระโดดข้ามเชือก
    เล่นทาย "อะไรเอ่ย" กับลูกบ่อยๆ
    ฝึกหัดนับสิ่งของและหยิบของตามจำนวน 1-5 ชิ้น

พัฒนาการของเด็กวัย 5ปี
    พบผู้ใหญ่รู้จักไหว้ทำความเคารพ
    รู้จักขอบคุณ
    รู้จักเล่าเรื่องสั้นๆ

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย

    ให้ลูกช่วยงานบ้านง่ายๆ และพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่ทำ เช่น ซักผ้า
    ฝึกให้ลูกสังเกต รู้จักเปรียบเทียบสิ่งที่แตกต่าง และจัดกลุ่มสิ่งที่เหมือนกัน

พัฒนาการของเด็กวัย 6 ปี

    นับได้ 1-30 รู้ค่าจำนวน 1-10
    รู้จักซ้าย ขวา
    เริ่มอ่านและเขียนตัวอักษรและตัวเลข

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย

    ให้ลูกนับสิ่งของที่พบเห็น หัดอ่าน เขียนรูป และตัวอักษร
    พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับบุคคลต่างๆ และประเพณีท้องถิ่น
    ให้ลูกวาดรูปตามความคิดของตน และเล่าเรื่องจากรูปที่วาด หรืออธิบายสิ่งที่ตนพบเห็น

อนามัยวัยทารก ให้อาหารถูกหลักลูกรักแข็งแรง

อนามัยวัยทารก

ให้อาหารถูกหลักลูกรักแข็งแรง
     “อาหาร” ที่เหมาะสำหรับทารกทั้งชนิดปริมาณ เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการพัฒนา และการเจริญเติบโตของร่างกายและสมอง ทารก
เป็นช่วงชีวิตที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว การเจริญเติบโตของสมองเกิดขึ้นตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาจนถึงอายุ 2 ปี ซึ่งมีการพัฒนา
ไปประมาณร้อยละ 80 ของสมองผู้ใหญ่
     ดังนั้น อาหารระหว่างที่แม่ตั้งครรภ์ตลอดจนอาหารทารกหลังคลอด จึงมีความสำคัญอย่างมาก น้ำหนักทารกแรกคลอดจะประมาณ 3
กิโลกรัม แต่เมื่อทารกอายุได้ 5 เดือนจะมีน้ำหนักเป็น 2 เท่า ของน้ำหนักแรกเกิด และควรเป็น 3 เท่าเมื่อทารกอายุได้ 1 ปี จะเห็นว่า
ไม่มีวัยใดในชีวติของคนเราที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วเท่าช่วงวัยทารก ดังนั้นความต้องการ สารอาหารต่าง ๆ จึงเพิ่มขึ้นด้วยถ้าได้
รับสารอาหารต่าง ๆ ไม่เพียงพอการเจริญเติบโตก็จะหยุดชะงัก ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะให้อาหารชนิดต่าง ๆ จึงมีความจำเป็น เพื่อให้
ทารกมีการเจริญเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ
   
สารอาหารสำคัญที่ลูกน้อยต้องการ
     พลังงานและโปรตีน ความต้องการพลังงานและโปรตีนเทียบกับน้ำหนักตัวจะเห็นว่าสูงมากกว่าเด็กโตหรือว่าผู้ใหญ่ แหล่งโปรตีนและพลังงานในช่วงแรกเกิดถึง 4 เดือนที่ดีที่สุดคือ นมแม่ หลังจากนั้นเพิ่มเติมจากไข่ เนื้อสัตว์ต่าง ๆ เครื่องชี้วัดการเจริญของเซลล์สมอง คือเส้นรอบศีรษะ
     แร่ธาตุเหล็ก จำเป็นสำหรับการสร้างเม็ดเลือดแดง ทารกอายุ 4-12 เดือน ควรได้รับแร่ธาตุเหล็กจากตับ เนื้อสัตว์ ไข่แดง
     ไอโอดีน ช่วยการทำงานของต่อมไทรอยด์ ไอโอดีนช่วยพัฒนาสมองและการเจริญเติบโตของร่างกาย ใช้เกลือไอโอดีนในการปรุงอาหาร
     แคลเซียม จำเป็นสำหรับการสร้างกระดูกและฟัน ส่วนใหญ่ได้รับจากนม
     สังกะสี ช่วยในการเจริญเติบโต สร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย มีมากในอาหารพวกเนื้อสัตว์ต่าง ๆ และอาหารทะเล
     วิตามินเอ มีบทบาทเกี่ยวกับการเจริญเติบโต สร้างเสริมเซลล์และระบบภูมิคุ้มกันช่วยเกี่ยวกับการมองเห็น แหล่งอาหารสำคัญ คือ ตับ ไข่แดง ผักใบเขียวเข้ม และผลไม้สีแหลืงแสด

พัฒนาการกินในขวบปีแรก
     ลูกแรกคลอด คุณหมอจะให้นำมาแนบอกแม่ภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด ให้ลูกได้ดูดนมแม่ แม้ว่าบางครั้งแม่จะยังไม่มีนม หรือมีน้อยมากซึ่งเป็นหัวน้ำนมที่เป็นภูมิต้านทานของลูก เด็กแรกคลอดจะทำได้แค่ดูดและกลืนจึงยังไม่ต้องให้อาหารอื่นนอกจากนม ต่อเมื่อลูกอายุย่างเข้าเดือนที่ 4 จึงเริ่มให้ลูกได้อาหารอื่น นอกจากทารกเริ่มต้องการพลังงานแร่ธาตุวิตามินเพิ่ม และในช่วงนี้จะใช้ลิ้นช่วยให้อาหารในปากไปสู่การกลืน ควรเริ่มอาหารทีละอย่าง และทีละน้อย ๆ ก่อน 1 ช้อนเล็ก และจึงค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้น เช่น เริ่มด้วยข้าว
บดไข่แดงบวกน้ำสุกเพื่อให้เหลวและเปลี่ยนเป็นกล้วยน้ำหว้าสุกบด (ไม่ใช้ไส้) ข้าวบดกับตับ ถ้าทารกปฏิเสธไม่ยอมรับอาหารใดให้เว้นเอาไว้ 3-4 วันแล้วกลับมาป้อนใหม่
     เมื่ออายุได้ 6-7 เดือน ทารกคุ้นเคยกับอาหารเสริมแล้ว ทารกบางคนเริ่มมีฟัน ดังนั้น อาหารจะค้นขึ้น เนื้อสัตว์สับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ได้ปริมาณอาหารเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1 ถ้วย หรือว่าแทนนม 1 มื้อ หมุนเวียนอาหารโดยเฉพาะผัก เพื่อฝึกการยอมรับรสชาติของผักหลาย ๆ ชนิด และไม่ปฏิเสธผักเมื่อโตขึ้น
     อายุ 8-12 เดือนให้อาหารหลัก 2 มื้อ นมอีก 4 มื้อ น้ำหนักตัวประมาณ 7-8 กิโลกรัม เด็กเริ่มหยิบของด้วยมือข้างเดียว ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ในการหยิบของ ให้อาหารที่เป็นชิ้นที่นิ่มเมื่อเข้าปาก เช่น ขนมปังขาไก่ ฟักทองต้มเป็นชิ้น ๆ ผักต้มเด็กจะได้ช่วยตัวเองในการหยิบจับอาหารและสนุกกับการกิน
     อายุ 1-1ปีครึ่ง อาหาร 3 มื้อ นม 3 มื้อ มีสารอาหารครบเหมือนผู้ใหญ่โดยอาหารสุกอ่อนนุ่มเป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้เคี้ยวได้ เด็กเริ่มที่จะใช้ช้อนในการตักเอง แต่ยังหกอยู่ ต้องปล่อยให้เด็กช่วยตัวเองในการตักอาหารและให้เด็กนั่งโต๊ะในการกินอาหารร่วมกับผู้ใหญ่เพื่อให้เคย ๆ ฝึกวินัยช่วงอายุนี้ เด็กสามารถดื่มนม ดื่มน้ำจากถ้วยได้แล้ว
     เมื่ออายุ 2 ปี น้ำหนักตัวประมาณ 12 กิโลกรัม ตักอาหารกินเอง ถือถ้วยน้ำเองยังหกอยู่บ้าง เริ่มคิดตัดสินใจเอง มีการต่อต้านคำสั่ง แต่ถ้าได้ฝึกให้ลูกกินถูกหลักถูกวิธีตั้งแต่เริ่มกินได้ ก็จะไม่ยุ่งยากหรือว่าปฏิเสธในการกินผักให้หนักใจ

การให้อาหารที่เหมาะสมสำหรับทารก
     ถึงแม้ว่านมแม่จะเป็นอาหารที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง แต่เมื่อถึงช่วงหนึ่งนมแม่เพียงอย่างเดียวก็ไม่พอสำหรับทารก ดังนั้นอาหารเสริมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ช่วงอายุที่เหมาะสมในการให้อาหารเสริมแก่ทารกก็คือ เริ่มให้ลูกอายุ 4-6 เดือนขึ้นไปเพราะว่าทารกมีความต้องการสารอาหารเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากนมแม่
     อาหารที่เหมาะกับทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 4 เดือนเต็มก็คือนมแม่อย่างเดียว แต่พอทารกอายุครบ 4 เดือนเต็ม ควรให้ข้างบดใส่ไข่แดงต้มสุก สลับกับตับ กล้วยน้ำหว้าสุกครูด ปริมาณ 1 –2 ช้อนชา แล้วค่อยเพิ่มจนถึง ½ ถ้วย แล้วให้กินนมแม่ตาม
    - ทารก 5   เดือน ควรเพิ่มปลาต้มสุกและผักต้มเปื่อยปริมาณ ½ ถ้วย
    - ทารก 6 เดือน ควรเพิ่มเนื้อสัตว์สับละเอียดและข้าวบดที่หยาบขึ้นประมาณเกือบ 1 ถ้วย
    - ทารก 7 เดือน ควรเพิ่มผลไม้เป็นอาหารว่าง และสามารถให้ไข่ทั้งฟองได้ ปริมาณอาหาร 1 ถ้วย สามารถแทนนมได้ 1 มื้อ
     - ทารก 8-9 เดือน สามารถให้อาหารที่หยาบขึ้นและให้อาหารแทนนมได้ 2 มื้อ
     - ทารก 10-12 เดือน เนื้อสัมผัสของอาหารจะหยาบขึ้นและไม่ต้องบด และให้อาหารแทนนมได้ 3 มื้อ

ทำอย่างไรไม่ให้ลูกเบื่ออาหาร
     ทารกช่วงอายุ 4 เดือนขึ้นไปแล้ว เป็นช่วงที่สำคัญมากเนื่องจากเป็นระยะที่เปลี่ยนจากการกินอาหารเหลวมาเป็นอาหารที่หยาบกว่าเดิม เป็นช่วงที่ควรฝึกหัดนิสัยการกินให้เด็กเพิ่มเสริมพฤติกรรมการกินที่ดี เมื่อเด็กโตขึ้นบางครั้งอาจจะเบื่ออาหาร ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ และมีข้อแนะนำดังนี้
     1. ควรให้อาหารที่มีลักษณะละเอียดหรือว่าหยาบให้เหมาะสมกับวัย เช่น การให้ข้าวตุ่นที่เนื้อละเอียดจนเกินไปอาจทำให้เด็กเบื่ออาหาร เมื่อเด็กโตขึ้นพอที่เคี้ยวอาหารได้ก็ควรเปลี่ยนเป็นข้าวที่แห้งขึ้น
     2. ควรหาวิธีให้เด็กคุ้นเคยต่อรสชาติของอาหาร เช่น เมื่อถึงวัยที่เด็กมีพัฒนาการชอบที่จะหยิบจับของใส่ปาก ควรหาอาหารที่ไม่เหนียว หรือว่าแข็งจนเกินไปให้เด็ก ถือกินเล่นจะช่วยให้เด็กคุ้นเคยกับกลิ่น และรสชาติของอาหาร
     3. ควรรู้จักวิธีการปรับเปลี่ยนอาหารให้หลากหลาย เช่น อาหารผักแทนที่จะเป็นผักล้วน ๆ ก็ควรปรุงไปกับอาหารอื่น ๆ เช่น ไข่เจียว
หรือว่าไข่ตุ่นใส่ผักสับละเอียดหรือว่าแกงจืดแตงกว่ายัดไส้หมูบด
     4. ส่วนเนื้อสัตว์ก็ควรหัดให้กินแบบที่ไม่เหนียวก่อน เช่น ให้กินเนื้อปลา ตับบด ก่อนที่จะกินพวกเนื้อ หมู ไก่ ตามลำดับ
     5. สร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมโดยให้ร่วมโต๊ะอาหารพร้อมผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของการกิน เช่น การกินผัก ซึ่งจะช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้และปรับตัว นอกจากนี้ควรรู้จักสังเกตและคอยแก้ไขปัญหาให้เด็กจนกว่าเด็กจะโต และรู้จักเลือกรับประทานอาหารของตนเองได้

อาหารสำหรับเด็กท้องผูกและท้องเสีย
     การได้รับอาหารตามวัยที่เหมาะสมจะช่วยให้การขับถ่ายของทารกดำเนินไปด้วยดีในระยะแรกทารกจะขับถ่ายด้วยการกระตุ้นของแล็กโทสในนม ซึ่งถูกย่อยไม่หมดแล็กโทสที่ถูกย่อยไม่หมดจะผ่านไปที่ลำไส้ใหญ่ถูกหมักและย่อยต่อโดยแบคทีเรีย ทำให้เป็นกรดอ่อน ๆ ซึ่งกรดนี้จะทำให้ลำไส้เกิดการระคายเคือง เกิดการบิดตัวและกรดนี้มีคุณสมบัติในการดูดน้ำเข้าหาตัวด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้เด็กก็จะขับถ่ายออกมา (จะเห็นได้ว่าเด็กที่ทานนมแม่ทุกคนจะขับถ่ายมีน้ำปนออกมา ซึ่งไม่ใช้ท้องเสีย ไม่ควรตกใจ) ทารกอายุน้อย ๆ กินนมแม่จะไม่เกิดอาการท้องผูก ถ้าลูกเกิดกินนมผสมต้องผสมนมให้ถูกส่วน เพราะยิ่งใสนมให้น้อยเกินน้ำมากขึ้น ลูกจะยิ่งท้องผูกหนักขึ้น เพราะการที่เด็กทารกถ่ายได้ขึ้นกับแล็กโทสที่อยู่ในนมจะย่อยไม่หมด
     การแก้อาการท้องผูก ละลายน้ำผึ้งหรือน้ำตาลปี๊บ 1-2 ช้อนโต๊ะ ใส่น้ำพอ ...... ต้มให้เดือด ทิ้งให้เย็นให้เด็กกินวันละ 2-3 ครั้ง ถ้าเด็กโตเพิ่มอาหารที่มีกากพวกผักใบเขียว ผลไม้ เช่น มะละกอ ส้มเขียวหวาน หรือเด็กที่โตกว่า 2 ขวบ อาจให้กินน้ำมะขามที่ต้มสุกแล้ว และฝึกให้ถ่ายหลังอาหารเช้าเป็นประจำจะได้ไม่เกิดท้องผูก
     ในกรณีที่ทารกอุจจาระร่วง
     ถ้าลูกท้องเสียฉับพลัน ให้แก้สภาวะสูญเสียน้ำก่อนภายใน 4-6 ชั่วโมง โดยให้ดื่มน้ำเกลือผงละลายน้ำแล้วให้ดูดนมแม่ต่อไป ถ้าเด็ก
กินนมผสมให้ผสมเจือจางเท่าตัวก่อนแล้วค่อยเพิ่มเป็นปกติภายใน 3 วัน
     อาหารอื่นในระหว่างท้องเสีย ควรเป็นอาหารอ่อน ๆ จำนวนน้อยกว่าแล้วค่อยเพิ่มเป็นเท่ากับปกติ
     - โจ๊ก , ข้าวต้ม
     - ดื่มนมแม่

การพัฒนาการของเด็กตามวัยที่เหมาะสม
     ในช่วงขวบปีแรกนั้นเด็กจะเติบโตเร็วมาก ในแต่ละเดือนที่ผ่านไปจะมีพัฒนาการอยู่ตลอดเวลา ถ้าพ่อแม่หรือว่าคนเลี้ยงมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพัฒนาการของเด็กในวัยนี้ ก็สามารถช่วยส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัยได้
     พัฒนาการของเด็กในขวบปีแรกมีดังนี้
     แรกเกิด ทารกจะมองจ้องได้เฉพาะระยะใกล้ ๆ แต่ว่ายังหันศีรษะไม่ได้ ช่วงเดือนที่ 1 เด็กจะเริ่มชูศีรษะได้เล็กน้อยเมื่อนอนคว่ำ หันซ้าย หันขวา มองตามได้เล็กน้อย ยิ้มไม่มีความหมาย และทำเสียงในคอได้ ช่วงเวลาที่แม่ให้นมลูกควรมองสลับตาและยิ้มแย้ม และเอียงหน้าไปมาให้เด็กมองตาม ช่วงเดือนที่ 2 เด็กจะชันคอได้แข็งขึ้น ถ้าจับนั่งจะยกศีรษะหรือว่าแหงนหน้าขึ้นได้ ฟังเสียงคุย ยิ้มตอบ แสดงความสนใจได้แล้ว ให้หาของเล่นสีสันสดในแขวนให้เด็กมองตามและพูดคุยกับเด็กด้วยเสียงต่าง ๆ ในช่วงเดือนที่ 4 เด็กบางคนจะชันคอได้แข็ง สามารถใช้มือและแขนยันยกตัวชูได้ และจะแสดงสีหน้าดีใจเมื่อเห็นหน้าพ่อหน้าแม่ หรือคนเลี้ยง ดังนั้นจึงควรจัดที่ปลอดภัยเอาไว้ให้เด็กหัดคว่ำหรือหัดคืบเมื่อเข้าเดือนที่ 6 เด็กจะคว่ำและหงายเองได้ นั่งเองได้ชั่วครู่ จับให้หัดยืนได้ หันหน้าตามเสียงเรียก เล่นน้ำลาย และรู้จักแปลกหน้าคนแล้ว เพราะฉะนั้นต้องอุ้มเขาให้น้อยลง และปล่อยให้คลานเล่นเองมากขึ้น แต่ต้องมีผู้ใหญ่คอยระวังอยู่ข้างหลังด้วย ในช่วงเดือนที่ 9 เด็กจะนั่งได้มั่นคง คลานเกาะยืน ใช้นิ้วหยิบของชิ้นเล็ก โดยใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มื้อได้ เล่นจ๊ะเอ๊ได้ โบกมือหรือว่าสาธุได้ ช่วงนี้ต้องให้เด็กได้หัดใช้นิ้วหยิบของหัดเดิน และหัดคลาน พออายุครบ 1 ขวบ ลูกจะตั้งไข่ เกาะเดิน ยืนเองได้ชั่วครู่ หยิบของใส่ถ้วยได้ เรียกพอเรียกแม่หรือว่าพูดเป็นคำ ๆ ได้เช่น หม่ำ เที่ยว คุณแม่ควรเริ่มสอนให้เขารู้จัก
อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายหัดดื่มจากแก้วหรือหัดเดินจูงมือ

เลี้ยงลูกอย่างมีคุณภาพ
     เด็กจะเติบโตเป็นคนดีมีความสามารถได้พ่อแม่มีส่วนมากทีเดียวเพราะต้องเป็นผู้ที่ปลูกฝังให้ลูกเป็นเด็กมีความพยายามด้วยต้องพัฒนาความสามารถของลูกให้เหมาะสมตามวัยครับ การเสริมสร้างความสามารถให้ลูกเป็นเด็กที่มีนิสัยขยันหมั่นเพียรนั้นมีหลักสำคัญ
ที่ต้องนำมาปฏิบัติประกอบการ 3 ประการ คือ
     1. การฝึกหัดให้เด็กพึ่งพาตนเอง ซึ่งพ่อแม่ต้องเริ่มปลุกฝังตั้งแต่ลูกอายุขวบกว่า ๆ จนกระทั้ง 4-5 ขวบ เพราะว่าเด็กวัยนี้เป็นไม้อ่อนดัดง่าย เช่นตอนเล็ก ๆ ก็ฝึกให้เขาตักอาหารรับประทานเอง ถอดเสื้อเองหรือ 2-4 ขวบก็ฝึกให้ช่วยงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ .....
     2. หลักประการที่ 2 คือ พ่อแม่ต้องอบรมลูกด้วยความรัก ความเข้าใจและใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ เรื่องนี้สำคัญมากต้องไม่ใช้วิธีการบังคับหรือฝืนใจและไม่ดุด่าให้ลูกกลัวหรือเสียกำลังใจ พ่อแม่ต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่างคอยให้คำแนะนำพูดชมเชยเมื่อลูกทำได้และให้รางวัลถ้าเขาทำได้ดี ซึ่งรางวัลสำหรับเด็กเล็กนั้น เพียงแค่การกอดอย่างอ่อนโยน หอมแก้ม ตบมือ ให้เท่านี้เด็กก็ภูมิใจมากแล้ว เรียกว่าการใช้ความรักและเหตุผลในการสอนจะส่งเสริมให้เด็กมีความตั้งใจที่จะพัฒนาสิ่งที่พ่อแม่อบรมให้ดียิ่งขึ้น
     3. และหลักประการสุดท้ายคือ การเล่านิทานหรือเรื่องที่เกี่ยกวับผู้มีความมานะพากเพียรให้ลูกฟังบ่อย ๆ สิ่งนี้จะช่วยกระตุ้นให้เด็ก
มีความเพียรพยายามในทางที่เหมาะสม โดยเลือกนิทานที่มีตัวเอก ตัวเอกที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ โดยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสมตามความสามารถที่มีอยู่ หรือว่าแก้ปัญหาด้วยปัญญาและความมานะอดทน หลักทั้ง 3 ประการนี้ จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการความสามารถมีความเพียรพยายาม และอย่าลืมปลูกฝังจริยธรรม คุณธรรม และลักษณะที่ดีอื่น ๆ ให้ลูกได้พร้อม ๆ กันไปด้วย

พัฒนาการเด็กและการส่งเสริมทารกวัย 3 เดือน


พัฒนาการทางร่างกายและการส่งเสริม


ลูกวัย 3 เดือนจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก สามารถยกศีรษะได้เป็นเวลานาน โดยเฉพาะมีสิ่งล่อตาให้มองหา เริ่มบังคับกล้ามเนื้อคอได้อย่างมั่นคง หากคุณพ่อคุณแม่จับลูกนั่งพิงลูกจะเริ่มหันซ้ายขวาและชะโงกหน้ามาดูสิ่งที่ลูกสนใจ และหากจับลูกยืนเขาจะทำท่าเหมือนกระโดดจั๊มขาคู่ อีกทั้งมือกับตาเริ่มประสานกันมากขึ้นโดยสังเกตจากลูกหยิบของเข้าปากได้แม่นยำขึ้น


ด้านสายตา ลูกจะหันมองแสง สี รูปร่าง และเสียงของวัตถุ เริ่มมองเพ่งไปที่โมบายที่แกว่งไปมา รวมทั้งจ้องใบหน้าคนอย่างมีจุดหมาย และในเดือนที่ 3 นี้ลูกสามารถมองรอบๆ ห้องได้อย่างเต็มตาแล้ว

พัฒนาการสำคัญที่เห็นชัดในทารกวัย 3 เดือนนี้ คือการใช้มือ กุมมือ จับมือ ตีมือ และจ้องมองมือตนเองมากขึ้น นั่นเป็นเพราะว่าประสาทตาทำงานได้ดีขึ้นมากแล้วนั่นเอง บางครั้งถึงกับยิ้มคิกคักเมื่อจับมือตนเองได้ แต่หากลูกหยิบสิ่งของที่อยู่ในมือและหล่นไป หากรอแล้วของสิ่งนั้นไม่กลับมาอยู่ในมือ ลูกก็จะละเลยความสนใจนั้นไป ลูกจะไม่ชอบมองสิ่งซ้ำๆ และมองหาสิ่งแปลกใหม่หรือสะดุดตาอยู่เสมอ


พัฒนาการทางร่างกายที่เด่นชัดของทารกวัย 3 เดือน ได้แก่
                ควบคุมการทำงานของร่างกายดีขึ้น
                มองตามและหันตามของที่เคลื่อนไหว
                หากมีเสียงดังขึ้น จะหยุดดูดนิ้วหรือดูดนมและหันหาที่มาของเสียง
                รู้ความแตกต่างของเสียงพูดและเสียงชนิดอื่นๆ
                นอนคว่ำชันคอนาน แต่ชันอกได้ไม่กี่นาที
                ยกแขนทั้งคู่หรือขาทั้งคู่ได้
                เมื่อจับยืนขาจะยันพื้นได้ครู่เดียว
                นั่งพิงได้ ศีรษะเอนเล็กน้อย
                ตี คว้า ดึง สิ่งของเข้าหาตัวเอง
                เชื่อมโยงการเห็นและการเคลื่อนไหวได้
                นอนกลางคืนได้นาน 30 ชั่วโมง ตื่นช่วงกลางวันมากขึ้น



พัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจ และการส่งเสริม
ลูกจะเข้าใจความพึงพอใจ เช่น ถ้าลูกเอามือเข้าปากแล้วจะรู้สึกพอใจ หรือการเอื้อมมือเข้าไปจับโมบายเพราะความพึงพอใจที่อยากจะทำ สามารถรอคอยได้ดีขึ้น เมื่อถึงเวลากินนมลูกจะอารมณ์ดี เพราะลูกจะรู้ว่าถึงช่วงเวลาแห่งความสุขแล้ว


พัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจที่เด่นชัดในทารกวัย 3 เดือน ได้แก่
                หยุดร้องไห้ทันทีเมื่อเห็นหน้าคน
                ตอบโต้สิ่งเร้าแทบทุกชนิด
                ยิ้มง่ายและยิ้มทันที
                มีเหตุผลมากยิ่งขึ้น และสามารถรอคอยได้บ้าง



พัฒนาการทางภาษาและการส่งเสริม
ลูกจะเข้าใจกิจวัตรประจำวันและเข้าใจพ่อแม่มากขึ้น ถึงแม้ว่าลูกยังอ้อแอ้อยู่ก็จะใช้ภาษากายเข้าช่วย เช่น เมื่อแม่เอานมมาก็จะโผเข้าหา อ้าปากรอเพื่อดูดนม และเริ่มเรียกอ้อแอ้ให้คุณสนใจ หรือเลือกวิธีร้องไห้ให้คุณพาไปเดินเล่นข้างนอกแทน


ลูกจะติดต่อกับพ่อแม่ด้วยวิธีจ้องตา ทำเสียงอืออา แม้ว่าสักพักลูกจะมองไปทางอื่น แต่ก็จะกลับมามองหน้าพ่อแม่อีกครั้งพร้อมส่งเสียงเหมือนทักทายด้วย

พัฒนาการทางภาษาที่เด่นชัดของทารกวัย 3 เดือน ได้แก่

                เงี่ยหูฟังเสียงอื่นๆ
                พูดแบบอือออ อ้อแอ้ หรือเสียงในลำคอตอบรับการได้ยิน
                โต้ตอบคำพูดหรือรอยยิ้มของแม่
                แยกออกระหว่างเสียงต่างๆ และเสียงของแม่
                ใช้การร้องไห้เพื่อบอกความต้องการเป็นหลัก
                หันไปหาเสียงพูดหรือเสียงเพลง


พัฒนาการเด็ก
พัฒนาการทางสังคมและการส่งเสริม
ลูกจะชอบอยู่กับคนอื่นและไม่ชอบที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ให้อยู่คนเดียวหรือเล่นคนเดียวนานๆ ชอบเล่นกับพ่อแม่พี่น้อง และหวังว่าคุณพ่อคุณแม่จะนำสิ่งใหม่ๆ มาให้ดู แต่เด็กบางคนมีบุคลิกเงียบเฉย เรียบร้อยก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่ต้องการความสนใจ เด็กทุกคนล้วนต้องการการได้รับความสนใจและเป็นอันดับหนึ่งในใจพ่อแม่เสมอ


พัฒนาการทางสังคมที่เด่นชัดของทารกวัย 3 เดือน ได้แก่
                แสดงอารมณ์ด้วยสีหน้าถ้าเจอคนคุ้นเคยจะแสดงออกทั้งร่างกาย
                เรียกร้องความสนใจ
                ต่อต้านเมื่อต้องอยู่คนเดียว



พัฒนาการทางสมองและการส่งเสริม
คลื่นสมองของเด็กอายุ 3 เดือน มีลักษณะใกล้เคียงกับสมองผู้ใหญ่ จะเห็นได้ว่าลูกสามารถควบคุมร่างกายและการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นแล้ว


ลูกจะจดจำเสียงพ่อแม่ได้และสนใจเสียงต่างๆ พร้อมอยากรู้ที่มาของเสียงนั้นด้วย ลูกจะเรียนรู้ผ่านมือมากขึ้นโดยเรียนรู้จากการสัมผัส รูปร่าง ขนาดของสิ่งของ สมองจะแยกแยะความแตกต่างเก็บเป็นข้อมูลชีวิตในภายภาคหน้า ซึ่งจะตามมาด้วยหลักในการเรียนรู้เรื่องเหตุและผล ช่น เมื่อลูกร้องไห้และเมื่อได้ยินเสียงแม่เดินเข้ามาก็จะหยุดร้อง เพราะรู้ว่าสักพักก็จะได้กินนมแล้ว เป็นต้น

ช่วงเวลา 6 เดือนแรกนี้เป็นช่วงเวลาทองที่สภาพแวดล้อม พ่อ แม่ และคนใกล้ชิดมีอิทธิพลต่อลูกเป็นอย่างมาก ซึ่งคนใกล้ชิดควรช่วยดูแลลูกเติมเต็มความต้องการพื้นฐาน เช่น กินอื่ม นอนหลับ ขับถ่ายดี รวมทั้งการดูแลเรื่องการเรียนรู้ โดยสอนให้ลูกได้ลองสัมผัส ดมกลิ่น ชิมรส กับสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวบ้าง เพราะสิ่งใหม่ๆ จะทำให้ลูกมีความกระตือรือล้นในการเรียนรู้โลกใบนี้และพัฒนาสมองได้อย่างดีด้วย


พัฒนาการทางสมองที่เด่นชัดของทารกวัย 3 เดือน ได้แก่
                รู้ความแตกต่างของใกล้และไกล
                สนใจสิ่งหนึ่งๆ ได้นานถึง 45 นาที
                เบื่อเสียงหรือสิ่งซ้ำๆ
                เรียนรู้ผ่านมือและการมองเห็น

เด็กทารกสื่อสารด้วยการร้องไห้


   ช่วงเวลาสำหรับคุณแม่มือใหม่ในการเลี้ยงทารกช่วงวัยเด็กอ่อน แรกเกิดถึงประมาณ 3 เดือน เป็นช่วงที่ต้องเตรียมรับมือกับเสียงร้องของลูกน้อยที่หนักหน่วงที่สุด โดยเฉพาะช่วงเดือนแรกที่เด็กทารกต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมภายนอกครรภ์ และกำลังอยู่ในช่วงที่ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายโดยเฉพาะระบบลำไส้และการย่อยอาหารกำลังปรับตัว พอเมื่อผ่านพ้นช่วงเดือนแรกไป การร้องของเด็กก็จะลดน้อยลงจนเข้าเดือนที่ 3 ลองมาดูกันค่ะว่าการร้องของเด็กทารกสื่อสารอะไรให้คุณแม่ทราบบ้าง


หนูร้องเพราะหิวนม เด็กทารกแต่ล่ะคนมีอุปนิสัยการกินแตกต่างกันทั้งในเรื่องของช่วงเวลาและปริมาณ เด็กบางคนกินนมตรงเวลาแล้วหลับยาวแต่เด็กบางคนกินทีล่ะน้อยแต่ตื่นมากินบ่อย เมื่อถึงเวลากินนมเด็กเริ่มหิวก็จะร้องให้คุณแม่ป้อนนม นอกจากการร้องเพราะหิวนมตามช่วงเวลาปกติแล้วในบางครั้งการร้องอาจเป็นเพราะทานนมไม่อิ่ม อาจเนื่องมาจากน้ำนมแม่มีไม่เพียงพอหรือเด็กเริ่มทานนมมากขึ้นตามช่วงอายุ ดังนั้นเพื่อให้เด็กหลับได้ยาวนานขึ้นคุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตุว่ามีนมเพียงพอสำหรับลูกน้อยรึเปล่า หรือถ้าให้ดื่มนมขวด สามารถสังเกตุได้ว่าเมื่อเวลาที่ดูดจนหมดขวด เด็กจะพยายามดูดขวดเปล่าต่ออย่างเอาจริงเอาจังเสียง ดังจ๊วบ ๆ นั่นแปลว่าเขากินไม่อิ่มค่ะถ้าหลับไปเดี๋ยวก็ตื่นขึ้นมาร้องกินนมอีก

หนูเหนื่อยอยากนอนแล้ว เด็กทารกพออ่อนเพลียและเริ่มง่วงนอนจะเริ่มงอแงและต้องแสดงพลังเฮือกสุดท้ายคือการร้องไห้ออกมา คุณแม่อาจลองให้นมและเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็กสบายตัวและวางลงปล่อยให้เขาร้องหลับไปเอง แต่ถ้าเด็กยังร้องไห้ไม่ยอมหลับ การอุ้มขึ้นมากล่อมให้เขาสงบลงและผล๊อยหลับในอ้อมอกแม่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งค่ะ


ผ้าอ้อมหนูเลอะ ความเปียกชื้นจากฉี่หรืออึทำให้เด็กทารกรู้สึกไม่สบายตัวและร้องบอกคุณแม่ให้เปลี่ยนผ้าอ้อมให้หนูหน่อยจ้าาา

หนูยังไม่ชินกับโลกภายนอก โดยเฉพาะเด็กอ่อนในช่วงแรกเกิด-1เดือนยังปรับตัวได้ไม่ดีในสภาพแวดล้อมนอกครรภ์ของคุณแม่ การร้องของเด็กในบางครั้งก็ไม่ใช่เพราะหิวนม ไม่สบายตัว หรือป่วยแต่เป็นเพราะเขายังปรับตัวได้ไม่ดีกับสภาพแวดล้อมภายนอกที่มีเสียงอึกทึก แขนขาเคว้งคว้างไปในอากาศ(จากที่เคยขดอยู่ในท่าเดียวตลอด 9 เดือนในครรภ์แม่) เสียงภายนอกก็อึกทึกไม่เหมือนตอนอยู่ในท้องแม่ หรือแสงสว่างจ้าที่เข้ามาแยงตา หากสาเหตุการร้องเป็นเพราะความไม่คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ การอุ้มเด็กขึ้นมากระชับในอ้อมอกแม่จะช่วยให้เด็กรู้สึกถึงความมั่นคงปลอดภัย(ได้ขดตัวอยู่ในอ้อมอกแม่เสมือนอยู่ในครรภ์)
สำหรับการปรับสภาพแวดล้อมภายในห้อง ลดแสงสว่าง เปิดเครื่องดูดฝุ่นเบา ๆ (เลียนเสียงเหมือนตอนอยู่ในน้ำคร่ำในครรภ์แม่) รวมถึงการพันผ้าห่อตัวเด็กในช่วงเวลานอน สามารถช่วยให้เด็กสงบลงและหยุดร้องและนอนได้นานขึ้น



หนูท้องอืด อาการท้องอืดมีลมในกระเพาะจะเป็นมากในช่วงเด็กอ่อนแรกเกิด-2 เดือน เนื่องจากระบบลำไส้และการย่อยอาหารยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เด็กจะร้องไห้งอแงเพราะแน่นท้องรู้สึกไม่สบายตัว ปกติหลังกินนมคุณแม่ควรอุ้มเด็กพาดบ่าให้เรอออกเพื่อให้เด็กสบายตัว การทามหาหิงส์หรือให้ทานยาแก้ท้องอืด(ควรปรึกษาแพทย์) สามรถช่วยลดอาการท้องอืดในเด็กได้ และคุณแม่ควรสังเกตุการถ่ายของเด็กหากไม่ได้ถ่ายเป็นเวลา 2-3 วันเด็กก็จะมีอาการแน่นท้องเช่นกันค่ะ

หนูนอนไม่หลับ เด็กแต่ล่ะคนก็มีนิสัยการนอนแตกต่างกันบางคนนอนยาวแต่เด็กบางคนก็มักจะตื่นมาร้องกวนได้หลาย ๆ ครั้งกลางดึกทั้งที่ไม่ได้หิวนม สำหรับคำแนะนำโดยเฉพาะเด็กทารกในช่วงเดือนแรกที่ชอบตื่นมาร้องกวนอาจมีสาเหตุมาจากการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมภายนอกยังทำได้ไม่ดี เนื่องจากต้องนอนในพื้นที่กว้าง ๆ ต่างกับตอนอยู่ในครรภ์ที่ได้นอนคุดคู้ขดตัวในพื้นที่แคบ ๆ เวลาตื่นมากลางดึกแขนขาก็จะรู้สึกเคว้งคว้างในอากาศ และยากที่จะนอนหลับต่อได้ การห่อตัวเด็กในเวลานอนโดยเฉพาะกับเด็กทารกในช่วงเดือนแรกสามารถช่วยลดการร้องกวนลงได้เนื่องจากการห่อตัวเสมือนว่าเด็กได้นอนขดแขนขาแนบชิดอยู่ในครรภ์

หนูป่วย เด็กทารกร้องเนื่องจากอาการป่วยมีไข้ตัวร้อน มีน้ำมูก คุณแม่สามารถสังเกตุอาการได้ง่าย แต่หากเด็กแผดร้องเสียงดังโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ(โดยที่เด็กไม่ได้มีอาการโคลิค)และคุณแม่ได้ทำทุกวิถีทางแล้ว คุณแม่ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยค่ะเพราะอาจเป็นอาการป่วยภายในที่เราไม่ทราบได้


หนูเป็นโคลิค "อาการเด็กร้องโคลิค"มักเกิดในเด็กอ่อนพบมากในช่วงปลาย ๆ เดือนแรก และเด็กจะร้องต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน(ชาวบ้านมักเรียกอาการโคลิคว่า เด็กร้อง 3 เดือน) ลักษณะอาการเด็กจะแผดเสียงร้องจ้าเหมือนเจ็บปวดอยู่นานหลายนาทีเด็กบางคนร้องนานเป็นชั่วโมง และจะร้องในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันทุกวันและหยุดร้องไปเอง พอหยุดร้องเด็กก็จะกลับมาอารมณ์ดีเหมือนเดิมกินนมได้ตามปกติ สำหรับอาการเด็กที่เป็นโคลิคในทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดแต่สันนิษฐานว่าเกี่ยวกับระบบการการย่อยอาหารของเด็กยังทำงานไม่สมบูรณ์ เมื่อย่างเข้าเดือนที่ 3 ระบบต่าง ๆ ทำงานได้ดีขึ้นอาการโคลิคก็จะหายไปเอง สำหรับการรับมือกับเด็กที่มีอาการโคลิคติดตามอ่านตอนต่อไปนะคะ

การนอนของลูกน้อยวัยแรกเกิด – 3 เดือน

    ถ้าเราจะกล่าวในเรื่องของกิจวัตรประจำวันหรือกิจกรรมที่ทารกวัยแรกเกิด – 3 เดือนนั้นพึงกระทำได้นั่น ต้องบอกว่ามีแค่สอง สาม อย่างเท่านั้นเอง คือ การร้องไห้ เมื่อต้องการที่จะสื่อสารหรือบอกในส่วนของอารมณ์ความรู้สึกในตอนนั้น อาจจะรู้สึกไม่สบายตัว หิว หรือมดกัด หรือกิน เพราะลูกน้อยต้องการนมจากคุณแม่อีกทั้งในวัยนี้ก็กินได้แค่นมเท่านั้น และสุดท้าย คือการนอน ซึ่งต้องบอกเลยว่าการนอนของลูกน้อยนั้น ถือว่าเป็นกิจกรรมหรือกิจวัตรหลักๆเลยที่ลูกน้อยทำทุกวัน ก็แม้แต่คนเราโตแล้วยังต้องการเวลาพักผ่อนเลย จริงหรือไม่ ดังนั้นการนอนจึงถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ดังนั้นวันนี้เราจะมาเรียนรู้ในเรื่องของการนอนของทารกกันดีกว่า โดยเราจะมุ่งเน้นไปในโซนของทารกวัยแรกเกิด – 3 เดือน ว่าแต่มีอะไรบ้างนั้น มาดูกันเลย

ท่านอนที่เหมาะสมสำหรับทารกวัยแรกเกิด – 3 เดือน คือ

ท่านอนหงายหรือนอนตะแคง อาจจะเกิดข้อสงสัยมาว่า ทำไมต้องนอนหงายกับนอนตะแคงละ นอนคว่ำไม่ได้หรอ ถ้าเอาแต่นอนหงาย ศีรษะลูกน้อยไม่สวยกันพอดี หากจับนอนคว่ำแล้ว ศีรษะหรือรูปทรงของหัวลูกน้อยก็จะทุย กลม มน สวยงาม เรามีคำตอบกัน “ที่แนะนำว่า ท่านอนที่เหมาะสมที่สุดของทารกแรกเกิด – 3 เดือนนั้นคือ ท่านอนหงายกับนอนตะแคงก็เพราะว่า ทารกในวัยแรกเกิด ต้องบอกว่าทารกแรกเกิด – 3 เดือนนี้ก็ยังถือว่าเป็นวัยแรกเกิด คุณพ่อคุณอย่าเพิ่งคาดหวังในเรื่องของคอที่จะแข็ง ต้องบอกว่าทารกในช่วงนี้นั้น ช่วงคอของเขายังอ่อนไหวมากนัก อีกทั้งตัวของลูกน้อยเองก็ยังไม่มีความสามารถพอที่จะสามารถชันคอได้ ดังนั้นด้วยที่เขายังไม่สามารถที่จะใช้แรงเกร็งคอ และชันคอได้ท่านอนหงายกับตะแคงจึงเหมาะที่สุด เพราะถ้าหากทารกแรกเกิดนั้นนอนคว่ำ เขาไม่สามารถที่จะชันคอได้ คอไม่แข็ง อาจจะทำให้การหายใจของลูกน้อยนั้นลำบาก อีกทั้งยังเสี่ยงต่อภาวะที่สุดแสนจะอันตรายที่มี ชื่อว่า SIDS  (Sudden Infant Death Syndrome) หรือการหยุดหายใจไปชั่วขณะ หรือที่ชาวบ้านอย่างเราๆเรียกกันว่า โรคไหลตายในเด็กนั้นเอง ซึ่งแน่นอนว่าอันตรายมาก มากจนถึงขั้นเสียชีวิตเลยทีเดียว ดังนั้นหากไม่มีคนดูแลอย่างใกล้ชิดแนะนำอย่าให้ลูกน้อยในวัยแรกเกิด – 3 เดือนนี้นอนคว่ำเด็ดขาด หรือทางที่ดีเลี่ยงไปเลยดีที่สุด”

ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะว่า “การนอนหงายและนอนตะแคงมีประโยชน์ต่อลูกน้อยในเรื่องของพัฒนาการการเรียนรู้ด้วยนะ” ทั้งนี้เพราะว่าการนอนคว่ำนั้นนอกจากจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะไหลตายในเด็กแล้ว ยังปิดกั้นในการเรียนของลูกน้อยด้วย เพราะทารกน้อยจะมองไม่เห็น กลายเป็นคนไม่ช่างสังเกต ดังนั้นให้เขานอนหงายและนอนตะแคงจะดีกว่า เพราะว่าพวกเขายังสามารถที่จะเอียงคอมองไปในสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ อีกทั้งยังมีการสรุปอีกว่า เด็กที่ตอนเด็กๆพ่อแม่ให้นอนคว่ำบ่อยครั้ง มักจะเป็นคนไม่ช่างสังเกต เมื่อเทียบกับเด็กที่นอนหงายและนอนตะแคงนั่นเอง”
ช่วงเวลาของการนอนที่มีระบบ ระเบียบขึ้นมาอีกนิดหนึ่งของลูกน้อยหรือทารกวัยแรกเกิด – 3 เดือน

ต้องขอย้ำคำนี้เลยจริงๆกับระบบ ระเบียบการนอนของหนูน้อยที่อาจจะเพิ่มขึ้นมาอีกสักนิดหนึ่ง ที่เราบอกว่าเพิ่มขึ้นมาอีกนิดหนึ่งก็หมายความว่า ลูกน้อยจะเริ่มนอนกลางคืนมากขึ้นและนอนกลางวันน้อยลงนั้นเองนั่นคือในช่วง 2 เดือนแรกของลูกน้อยนั้นจะนอนมากสักนิดหนึ่งคือประมาณวันละ 17-18 ชั่วโมงแต่เมื่อลูกน้อยอายุย่างเข้าประมาณ 3 เดือนลูกน้อยจะมีความต้องการในเรื่องของเวลาการนอนลดลงประมาณ 15 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้นและด้วยเหตุนี้เองก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องดีมากๆเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ทั้งหลายได้นอนหลับพักผ่อนในตอนกลางคืนมากขึ้นนั่นเอง ดังนั้นในช่วงเดือนแรกของทารกนั้นคุณพ่อคุณแม่สามารถที่ช่วยให้ลูกน้อยของคุณนั้นหลับได้สบายและยาวนานมากขึ้น โดยกระทำได้โดยการให้คุณแม่ห่อตัวลูก หรือวางผ้าไว้ที่หน้าอก หรือหลังของลูก ทั้งนี้ที่ทำแบบนี้เพื่อเสริมสร้างความรู้สึก ให้ลูกรู้สึกว่าปลอดภัยและอบอุ่น และเมื่อลูกอาบน้ำแล้ว อีกทั้งยังได้ทานนมจนอิ่ม ก็จะเรื่องปกติที่เขาจะหลับได้โดยง่าย อีกทั้งเคล็ดลับสำคัญ ทดสอบเสียง ร้องเพลงกล่อมลูกกันดีกว่า เพื่อสร้างความผ่อนคลายนั่นเอง หรือคุณพ่อจะมาช่วยอีกแรงก็ได้

ขอเสริมอีกสักนิดว่า หากลูกน้อยของคุณนั้นอาจจะมีบางอาการหรือลักษณะที่ไม่เหมือนเด็กคนอื่น เช่น นอนน้อยตื่นบ่อย อย่าตกใจไปถ้าหากลูกยังร่าเริง น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์  ดื่มนมได้เป็นปกติ เพราะว่าเดี๋ยวเขาก็สามารถปรับตัวได้ปกติเอง

ดังนั้นในส่วนของการนอนของทารกวัยแรกเกิด – 3 เดือนนี้จะให้สรุปง่ายๆคือ คุณพ่อคุณแม่ควรจะใส่ใจในเรื่องของท่านอนที่เหมาะสมมากที่สุด เพราะวัยนี้คอของลูกน้อยหรือทารกนั้นยังอ่อนอยู่มากไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ อย่าให้นอนคว่ำเพราะอาจจะจะไหลตายได้ อีกทั้งการนอนหงายและนอนคว่ำยังช่วยในเรื่องของพัฒนาการเรียนรู้ได้อีกด้วย และสุดท้ายการนอนของลูกจะดีและผ่อนคลายมากขึ้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ไม่เขินอาย มาร้องเพลงกล่อมลูกน้อยกันดีกว่า

 
 
Support : | |
Copyright © 2014. Guide Baby Care - All Rights Reserved
Template Created by Published by
Proudly powered by Blogger